แนวทางพัฒนาย่านสีลมในอนาคต

จากกระบวนการจัดทำพื้นที่ทดลอง และเก็บข้อมูลจากแบบสำรวจ สู่กระบวนการสรุปภาพรวมแนวทางการพัฒนาย่านสีลมในอนาคต

แนวทางพัฒนาย่านสีลมในอนาคต

จากบทสรุปของการทดลองโครงการ City Lab Silom ทีมงานได้รวบรวมผลการทดลองการใช้งานพื้นที่และความคิดเห็นของผู้ใช้งานจริง เพื่อนำผลมาวิเคราะห์และเป็นแนวทางการพัฒนาย่านสีลมในอนาคตได้ 2 ประเด็น คือ

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ

เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดจากคนในย่าน โดยภาครัฐมีหน้าที่หลักในการทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและอาจจะร่วมมือกับภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมเช่น

  • ทางเดินเท้า ที่สะดวกและปลอดภัย ภายใต้หลักการการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) ทางเท้าที่มีความต่อเนื่องระหว่างหน้าอาคาร และทางลาดที่มีคุณภาพสำหรับผู้สูงอายุผู้พิการ และรถเข็นหรือจักรยาน

  • องค์ประกอบอื่น ๆ เช่น พื้นที่นั่งคอย หรือพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม สามารถใช้พื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานต่าง ๆ และออกแบบให้เกิดการเชื่อมต่อของเส้นทางและกิจกรรมระหว่างพื้นที่ดังกล่าวและทางเดินเท้า

การบริหารจัดการ

ร้านค้าแผงลอยและจุดจอดรถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ไม่ได้รับการจัดการให้เป็นระเบียบ ส่งผลต่อการสัญจรและการจัดการขยะบนทางเดินเท้า และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาย่านสีลมในปัจจุบัน โดยเสนอแนวทางการพัฒนาในอนาคต ได้แก่

  • จัดสรรพื้นที่หน้าอาคารของภาคเอกชนบางส่วนให้กับร้านค้าแผงลอยและจักรยานยนต์รับจ้าง โดยสร้างข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งภาครัฐควรมีนโยบายเพื่อผลักดันแนวทางดังกล่าว เช่น สนับสนุนส่วนต่างค่าเช่าให้แก่เอกชน หรือ มีมาตรการการลดหย่อนภาษีให้แก่เอกชนที่จัดสรรพื้นที่บางส่วนให้กับร้านค้าแผงลอยและจุดจอดจักรยานยนต์รับจ้าง

  • ออกแบบทางเดินเท้าที่แบ่งพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วนให้ร้านค้า แผงลอยและจุดจอดจักรยานยนต์รับจ้างในบางช่วงของทางเดินเท้าที่มีความกว้าง 5-6 เมตร โดยไม่รบกวนการสัญจร

“เติมสีให้สีลม” สู่การพัฒนาและการสร้างภาพจำ

นอกจากแนวทางการพัฒนาย่านดังกล่าวแล้ว การค้นหาอัตลักษณ์ของสีลมผ่าน “สี”จากการทดลอง “เติมสีให้สีลม” โดย Palette Me ที่ได้รวบรวมภาพจำของสีลมผ่านมุมมองที่หลากหลาย  มาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

โครงการ “City Lab” ได้ศึกษาความต้องการและพฤติกรรมของคนเมือง นำไปสู่แนวทางการออกแบบส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่ผู้คนในย่านศูนย์กลางธุรกิจ ผ่านโครงการ “City Lab Silom”เป็นพื้นที่แรก

และเตรียมพบกับโครงการ “City Lab Saraburi” พื้นที่ทดลองแห่งที่สองของโครงการ City Lab เพื่อฟื้นฟูพื้นที่เมืองสระบุรี ให้มีชีวิตชีวาด้วยการเติมกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาวะทางกายและปรับปรุงด้านกายภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและฟื้นฟูวิถีชีวิตของคนในย่าน ได้ที่เพจ

City Lab Thailand เร็ว ๆ นี้

สนับสนุนโดย

Back

This is a unique website which will require a more modern browser to work!

Please upgrade today!

Share