ย่านสีลม เป็นพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ประกอบไปด้วยสำนักงาน แหล่งพาณิชยกรรมรายเล็กและใหญ่ ที่อยู่อาศัยและศูนย์รวมการบริการที่ครบครัน อีกทั้งเป็นหนึ่งในย่านที่รองรับการใช้ชีวิตรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงเป็นเส้นทางผ่านของระบบขนส่งมวลชนที่ไปยังอีกหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ
หากมองในมุมของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของคนเมืองอย่างทางเท้า สีลมเป็นย่านที่มีการสัญจรด้วยการเดินเท้าระหว่างวันจำนวนมากสัมพันธ์กับกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างคึกคักตลอดสองข้างทาง
องค์ประกอบ(กีดขวาง)ทางเท้า
ป้ายบอกทาง เสาไฟ สัญญาณไฟจราจร ป้ายโฆษณาและองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่บนทางเท้า เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการใช้งานภายในพื้นที่ แต่เมื่อขาดการวางแผนการพัฒนาในภาพรวม ส่งผลให้การจัดวางตำแหน่งสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้นเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จึงกลายเป็นสิ่งกีดขวางและเป็นอุปสรรคในการเดินเท้าแทน
การแก้ปัญหาสามารถทำได้หลายวิธี โดยจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น การปรับเปลี่ยนตำแหน่งการวางองค์ประกอบที่ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ การปรับส่วนที่ไม่จำเป็นต่อการใช้งานปัจจุบันหรือไม่สนับสนุนให้เกิดความน่าเดินออก ไปจนถึงการรวบรวมสิ่งอำนวยความสะดวกหรือป้ายสัญลักษณ์ที่สอดคล้องกันไว้ในจุด ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งอำนวยความสะดวกกลายเป็นสิ่งกีดขวางบนถนนสีลมได้
ทางข้ามไม่ปลอดภัย
ทางข้ามหลายจุดบนพื้นที่สีลมมีการใช้งานในช่วงเวลาระหว่างวันโดยคนเดินเท้าจำนวนมาก โดยบางแห่งที่มีการใช้งานหนาแน่นแต่กลับไม่มีสัญญาณไฟจราจร ส่วนในจุดที่มีปริมาณคนใช้งานน้อยกว่ากลับมีสัญญาณไฟ รวมถึงการจัดวางตำแหน่งของทางข้ามที่ไม่สอดคล้องกับการใช้งานจริง เช่น ทางข้ามในจุดบริเวณใกล้กับทางร่วมทางแยก และมีสิ่งกีดขวางบดบังทัศนวิสัยของผู้ใช้รถยนต์และคนเดินเท้า ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
หากจะพัฒนาให้การใช้งานทางข้ามมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำเป็นต้องมีการปรับปรุงการจัดวางตำแหน่งให้เหมาะสม สอดคล้องกับปริมาณการใช้งาน จัดองค์ประกอบทางเท้าที่กีดขวาง รวมถึงเพิ่มหรือปรับรูปแบบสัญญาณไฟจราจรสำหรับทางข้ามในบางจุด โดยคำนึงถึงความสะดวกของคนเดินเท้าและยานพาหนะควบคู่กัน
ความถี่ของทางเข้าอาคาร
อาคารในย่านสีลมส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชยกรรมประเภทห้างสรรพสินค้าและสำนักงาน ซึ่งมีทางเข้าออกสำหรับรถยนต์ โดยทางเข้าอาคารเหล่านี้เป็นจุดตัดกับทางเท้า ทำให้การเดินเท้าไม่มีความต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคทางกายภาพเนื่องจากพื้นต่างระดับ อีกทั้งเรื่องความปลอดภัยเมื่อมีรถยนต์เข้า – ออกอาคาร รวมถึงส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรจากความถี่ของทางเข้า – ออกอาคารที่มากเกินไปเช่นกัน
การแก้ปัญหาในด้านนี้หากแก้ที่ต้นเหตุอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเป็นกายภาพที่มีความถาวร และการปรับเปลี่ยนระบบจราจรภายในตึกเป็นเรื่องยาก หากทำได้ควรเลี่ยงทางเข้า – ออกอาคารบริเวณหน้าอาคารแล้วใช้ถนนสายย่อยด้านหลังอาคารเพื่อลดผลกระทบที่ตามมา และการแก้ไขกายภาพทางเท้าทำได้โดยการเชื่อมโยงวัสดุทางเท้าให้มีความต่อเนื่อง และอาจใช้สีหรือสัญลักษณ์เพื่อเป็นสิ่งเตือน รวมถึงการยกระดับบถนนบริเวณทางเข้า – ออกอาคารให้คนเดินเท้าสะดวกยิ่งขึ้น
สุขภาวะบนทางเท้า
นอกจากปัญหาด้านกายภาพของพื้นที่ที่ส่งผลในการใช้งานทางเท้าของถนนสีลม ยังมีปัญหาด้านสุขภาวะที่สามารถเห็นได้ชัดเจน คือเรื่องของความสะอาดและการจัดการของเสียที่ส่งผลโดยตรงต่อการเดิน บนทางเท้ามีหลายจุดที่เป็นจุดทิ้งขยะที่ไม่มีถังขยะและขอบเขตที่ชัดเจน ส่งกลิ่นเหม็นและของเสียเป็นวงกว้าง ประกอบกับการมีแผงลอยที่ยังมีบางส่วนหลงเหลือบนทางเท้าในพื้นที่ ผลที่ตามมาคือความสกปรกและสุขภาวะที่ไม่เหมาะสมกับการเดิน
การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจากปัจจัยนี้ คือการกำหนดจุดทิ้งขยะบนทางเท้าที่ชัดเจน มีขอบเขตและภาชนะที่มิดชิด และไม่ปล่อยให้ของเสียส่งผลกระทบต่อการใช้งาน รวมถึงการจัดการแผงลอยที่ยังคงมีอยู่ให้มีพื้นที่และจุดซื้อขายที่ชัดเจน ซึ่งการแก้ปัญหาปัจจัยเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สภาพแวดล้อมมีความน่าใช้งานมากขึ้นกว่าเดิม
องค์ประกอบทางเท้าส่งเสริมกิจกรรม
สิ่งที่ทำให้ทางเท้าของย่านสีลมมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความน่าใช้งานได้อีกอย่างหนึ่งคือ Street furniture หรืออุปกรณ์ประกอบถนนที่สามารถใช้งานและสร้างกิจกรรมแก่ผู้คนที่สัญจรไปมาได้ เช่นในบางจุดของทางเท้าหน้าอาคารเป็นพื้นที่ลานโล่งขนาดใหญ่ มีการใช้งานเพียงแค่การเข้า – ออกอาคาร และมีพื้นที่เหลือมากพอในการสร้างกิจกรรมให้เกิดประโยชน์ทั้งในมุมต่อสาธารณะและต่อผู้ประกอบการเอง
Street furniture ที่ง่ายที่สุดสำหรับทางเท้าสีลมอาจเป็นในรูปแบบของที่นั่งสำหรับการนั่งพัก เพื่อสร้างพื้นที่สำหรับการพักผ่อน การพบปะ และกิจกรรมทางสังคมทั้งจากผู้คนที่สัญจรไปมาและคนในพื้นที่ รวมถึงความต้องการในการใช้งานจากองค์ประกอบทางเท้ารูปแบบอื่น ๆ ที่สามารถสนับสนุนการใช้ชีวิตของคนเมืองภายในย่านธุรกิจที่สำคัญแห่งนี้
“ย่านสีลม” เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบไปด้วยสำนักงาน แหล่งพาณิชยกรรมรายเล็กและใหญ่ ที่อยู่อาศัยและศูนย์รวมการบริการที่ครบครัน อีกทั้งเป็นหนึ่งในย่านที่รองรับการใช้ชีวิตรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงเป็นทางเชื่อมต่อของระบบขนส่งมวลชนที่ไปยังอีกหลายพื้นที่ ในการพัฒนาย่านสีลมอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องดำเนินการภายใต้ความร่วมมื่อจากทุกฝ่าย
โดยมี “City Lab Silom” เป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันการพัฒนาด้วยกระบวนการทำพื้นที่ทดลองภายในย่าน ภายใต้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรุงเทพมหานคร, สำนักผังเมือง, ภาคีสีลม, ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Healthy Space Forum (ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง)
เรื่อง : ทัตพล วงศ์สามัคคี
ภาพ : อธิพัฒน์ พูนสินบูรณะกุล