โครงข่ายสุขภาพดี
PA Masterplan
เครื่องมือทางผังเมืองที่ช่วยแก้ปัญหาภายในเมืองด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
CATEGORY
Urban Design
LOCATION
Mueang, Chiang Rai
Mueang, Phuket
YEAR
2023
พื้นที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (physical activity) มีบทบาทสำคัญในเมือง การออกแบบพื้นที่เหล่านี้ให้คนในชุมชนมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น ไม่เพียงแค่เรื่องของการมีพื้นที่สำหรับออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการทำให้สามารถมีกิจกรรมทางกายได้ง่าย ๆ ใกล้บ้าน มีพื้นที่สวนหรือพื้นที่สีเขียวที่ทำให้เราสามารถนั่งพักผ่อนได้ ทั้งยังอยู่ในละแวกบ้านที่เราอาศัยอยู่อีกด้วย
การมีโครงข่ายพื้นที่สุขภาพดีก็เหมือนกับเป็นแผนผังที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางกายในเมือง ยังเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ที่เต็มไปด้วยศักยภาพ ผ่านการออกแบบร่วมกันของคนในเมือง เพื่อทำให้เราได้มีพื้นที่สุขภาพที่และทำให้เรามีกิจกรรมทางกายมากขึ้นอย่างแน่นอน
“โครงข่ายพื้นที่สุขภาพดี” หรือ PA Masterplan เป็นเครื่องมือทางผังเมืองที่ช่วยแก้ปัญหาภายในเมืองด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
โครงการนี้มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย ทำให้ทุกคนในเมืองสามารถออกกำลังกายได้ในระยะทางไม่เกิน 500-800 เมตร หรือภายในเวลา 15 นาที โดยจุดมุ่งหมายคือการปรับปรุงและเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวในเมือง เราอยากให้ทุกคนในเมืองมีโอกาสที่จะทำกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ เพียงแค่เดินหน้าบ้านก็พอ และที่สำคัญ โครงการนี้เป็นผลจากการร่วมมือของทุกคนในเมืองมาร่วมกันสร้างเมืองที่มีความสุขและสุขภาพที่ดี เราได้ทดลองใช้งานพื้นที่สุขภาวะต้นแบบในภูเก็ตและเชียงราย และสรุปผลลัพธ์มาเป็นคู่มือสำหรับการพัฒนาโครงข่ายพื้นที่สุขภาวะในท้องถิ่น
PA Masterplan
แผนโครงข่ายพื้นที่สุขภาพดี
พื้นที่สุขภาพดีในโครงการนี้ คือ พื้นที่ที่จะกระตุ้นและส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้คนในชุมชนมีการเพิ่มขึ้น เพื่อลดการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) โดยทำให้พื้นที่เหล่านี้อยู่ในระยะทางที่เดินได้ในระดับ 500-800 เมตร พื้นที่สุขภาพดีนี้สามารถเป็นทั้งลานว่าง สวนสาธารณะ หรือทางสัญจร เป็นต้น เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในชุมชน
โครงการนี้นำเอาวิธีการสร้างโครงข่ายพื้นที่สุขภาพดีมาทดลองในพื้นที่กรณีศึกษาเทศบาลนครภูเก็ตและเทศบาลนครเชียงราย โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่มีได้แบบ 3 รูปแบบ คือ 1) การเสนอกิจกรรมเพิ่มเติมให้กับพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่เดิมในลักษณะที่มีความหลากหลายมากขึ้น 2) การปรับปรุงกายภาพและกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่ให้ตรงตามมาตรฐาน และ 3) การสร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ในพื้นที่ที่ขาดแคลน
โครงข่ายพื้นที่สุขภาพดี
เทศบาลนครภูเก็ต
จุดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่เทศบาลนครภูเก็ตแบ่งได้เป็น 2 โครงข่าย ได้แก่ 1) เส้นโครงข่ายการพัฒนาพื้นที่สีเขียวคลองบางใหญ่ ซึ่งเป็นแกนเส้นทางคลองธรรมชาติที่เชื่อมพื้นที่และกิจกรรมเมืองเข้าด้วยกัน และ 2) เส้นโครงข่ายการเชื่อมต่อย่านพาณิชยกรรมและการท่องเที่ยว เป็นเส้นทางเชื่อมโยงพื้นที่พาณิชยกรรมหลากหลายรูปแบบในเมืองภูเก็ต
นอกจากนี้ ยังสามารถระบุพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่สุขภาพดีแห่งใหม่ในอนาคตได้ ทั้งหมด 56 แห่งที่เข้าถึงง่ายและครอบคลุมทั่วชุมชนทั้งหมด 22 แห่งทั่วทั้งพื้นที่ของเทศบาลนครภูเก็ต
โครงข่ายพื้นที่สุขภาพดี
เทศบาลนครเชียงราย
เพื่อเสริมสร้างที่อยู่อาศัยที่ดี ได้แบ่งแผนการพัฒนาเป็น 2 พื้นที่หลัก คือ “พื้นที่นำร่องหลัก (Core Area)” ที่ครอบคลุมเขตเมืองเก่าและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีศักยภาพและเตรียมความพร้อมในการพัฒนาก่อนที่อื่น ๆ และ “พื้นที่พัฒนารอง (Secondary Area)” ที่เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการขยายตัวของประชากรในอนาคต และเป็นพื้นที่สำหรับส่งเสริมสุขภาพให้แก่ชุมชนที่ตั้งอยู่นอกเขตเมือง
ไม่เพียงแค่สร้างพื้นที่สุขภาพ 83 แห่งเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางกาย แต่ยังได้จัดทำโครงข่ายพื้นที่สุขภาพดีที่จะสร้างพื้นที่สุขภาพดีในรัศมีการเข้าถึง 500-800 เมตร เพื่อครอบคลุมชุมชนทั้งหมดในพื้นที่นำร่องหลัก และรองรับเส้นทางโครงข่ายสุขภาพทั่วทั้งเทศบาลนครเชียงราย
PA Space
พื้นที่สุขภาพดี
พื้นที่สุขภาพดีในประเทศไทยสามารถแบ่งออกเป็น 10 ประเภทตามลักษณะการใช้งานทั้งแบบสาธารณะและแบบกึ่งสาธารณะ ได้แก่ พื้นที่ทางธรรมชาติ สวนสาธารณะ พื้นที่เล่นกีฬา ลานว่าง พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ สถานศึกษา พื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่ขนส่งสาธารณะ ทางสัญจร ศาสนสถาน
โดยพวกเราได้ออกแบบและทดลองใช้พื้นที่สุขภาพดีในเทศบาลนครภูเก็ตและเทศบาลนครเชียงราย โดยเน้นไปที่ 5 ประเภทที่มีศักยภาพในเมือง เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชน
ศาสนสถาน
ศาลเจ้าบางเหนียว
พื้นที่ในศาลเจ้าไม่เพียงแค่สำหรับพิธีทางศาสนาเท่านั้น ยังเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันในชุมชนและเป็นศูนย์กลางของย่าน การพัฒนาพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอความหลากหลายของกิจกรรมที่เป็นไปได้ในพื้นที่ศาสนสถาน เช่น การออกแบบลานจอดให้เป็นลานกีฬาชุมชน การออกแบบพื้นที่สำหรับนั่งพักผ่อนพบปะสังสรรค์ และแผนที่ร้านอาหารของย่านเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยใช้ลวดลายที่พบเห็นในองค์ประกอบของศาลเจ้าเพื่อความสวยงามและเป็นอัตลักษณ์
คริสตจักรเวียงเชียงรายที่ 1
ปรับเปลี่ยนพื้นที่ลานจอดรถของโบสถ์ให้เป็นพื้นที่พักผ่อนของชุมชนเมือง โดยใช้แนวคิด Tangram เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่สร้างปฏิสัมพันธ์ (interactive urban furniture) ผู้ใช้งานสามารถเคลื่อนย้าย ปรับเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ให้เป็นไปตามจินตนาการของแต่ละคนปรับเปลี่ยนได้ตามความคิดสร้างสรรค์และการใช้งานรูปแบบต่าง ๆ
ลานว่าง
ลานชุมชนหลังวัดพระแก้ว
เป็นพื้นที่ที่ยังขาดพื้นที่สาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดิน มีการสร้างสรรค์ลานโล่งว่างในชุมชน ให้เป็นจุดศูนย์กลางในการทำกิจกรรม และพบปะรู้แบบใหม่ ๆ ด้วยการเพิ่มพื้นที่สภากาแฟ พื้นที่นันทนาการ และพื้นที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกายของชุมชน ให้เกิดการขยับร่างกายเพิ่มขึ้น มีพื้นที่พบปะพูดคุย และเพิ่มการใช้งานให้หลากหลายมากขึ้น รองรับกลุ่มเด็กเล็ก และกลุ่มแรงงานได้มีพื้นที่ในการพักผ่อน
ขนส่งสาธารณะ
สถานีขนส่งเชียงราย แห่งที่ 1
เป็นพื้นที่ที่มีการใช้งานหลากหลายกลุ่มคน และเป็นจุดศูนย์กลางของการเปลี่ยนถ่ายการสัญจรใจกลางเมืองเก่าเชียงราย ออกแบบเป็น “พื้นที่ส่งเสริมสุขภาวะในชุมชนเมือง” โดยปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารให้เกิดการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พื้นที่เพื่อการเรียนรู้
ห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครภูเก็ต
การออกแบบพื้นที่สุขภาวะในบริบทพื้นที่ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของเด็ก เดิมพื้นที่แห่งนี้จะเป็นพื้นที่เอนกประสงค์หน้าอาคารมีการใช้งานที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในการเป็นจุดพักคอย การจับกลุ่มพูดคุยและเล่นสำหรับเด็กหลังเวลาเรียน การออกแบบจึงให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ใช้งานหลักคือกลุ่มเด็ก โดยจะสร้างสรรค์พื้นที่ และเพิ่มเติมกิจกรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้สอดแทรกการทำกิจกรรมทางกาย ที่จะได้ทั้งความสนุกสนาน พัฒนาการ และสุขภาพที่ดี
ศูนย์วัฒนธรรมนิทัศน์และพิพิธภัณฑ์เมืองเชียงราย 750 ปี
พัฒนาเป็น“ลานคนม่วน ชวนเรียนรู้” เป็นการออกแบบพื้นที่บริเวณด้านหน้าศูนย์วัฒนธรรมนิทัศน์และพิพิธภัณฑ์เมืองเชียงราย 750 ปี ซึ่งเป็นสถานที่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของเชียงราย จึงออกแบบพื้นที่ด้านหน้าให้สอดคล้องกับพิพิธภัณฑ์ โดยให้เป็นพื้นที่เรียนรู้สถานที่ที่สำคัญในเมืองเก่าเชียงราย มีการใช้สีที่ดึงดูด และทำให้การเรียนรู้ดูเป็นเรื่องที่สนุกมากขึ้น นอกจากนี้พื้นที่นี้ยังสามารถเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบหมุนเวียนได้ ต่อยอดความสร้างสรรค์ของกลุ่มเยาวชนให้สามารถมีส่วนร่วมผ่านกล่องที่มีการออกแบบให้เป็นสถานที่สำคัญของเมือง
ศูนย์เยาวชนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
พัฒนาเป็น“ลานคนม่วนชวนแอคทีฟ”ที่ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย และรองรับการทำกิจกรรมของกลุ่มเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ทั้งการเต้น การออกกำลังกายแบบง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยใช้แท่นด้านหน้าอาคารให้เกิดประโยชน์ผ่านการเพิ่มสีสันให้ดูสนุกมากขึ้น ส่งเสริมให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ต่อยอดการใช้งานภายนอกอาคารได้ นอกจากนี้ได้มีการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลาย รองรับการใช้งานบริเวณหน้าศูนย์เยาวชนฯ ทั้งการปรับเป็นที่นั่งพักผ่อน ที่นั่งชมการแสดง และเป็นที่ขายของได้
สถานศึกษา
โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว
เป็นการพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เนื่องจากการใช้งานเดิมจะเป็นจุดพักคอยสำหรับเด็กและผู้ปกครองบริเวณทางเท้าข้างโรงเรียน ได้ทำการออกแบบลายพื้นทางเท้าเป็นเกมกระโดดจํานวน 9 เกม จัดวางเฟอร์นิเจอร์สาธารณะเพื่อเพิ่มจุดพักคอยและจุดพบปะของชุมชน และลายทางข้ามปลอดภัย โดยให้ความสำคัญกับการเดินและกิจกรรมทางกายระหว่างทาง สอดแทรกการเรียนรู้ในขณะที่ขยับร่างกายไปพร้อมกัน การพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ยังสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชนในการเป็นพื้นที่ทางสังคม ที่ผู้คนได้มาพบปะพูดคุยกันในละแวกบ้านได้อีกด้วย
กิจกรรมทดลองใช้พื้นที่สุขภาพดี
ในการประชาสัมพันธ์พื้นที่ออกแบบนี้ จึงได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เปิดการใช้งานพื้นที่สุขภาพดี ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เห็นถึงความยืดหยุ่นและหลากหลายของการใช้งานพื้นที่เมือง จะช่วยสร้างความตระหนักและความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในละแวกบ้านเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาพ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มีความสนใจนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง
กิจกรรม “BANGNEAW FEST เปิดบ้านเรา ชาวบางเหนียว”
จัดขึ้นในวันเสาร์ 23 กันยายน 2566 ที่ศาลเจ้าบางเหนียว มีเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สุขภาพดีให้คนย่านบางเหนียว ด้วยการทำให้พื้นที่ศาลเจ้ากลายเป็นพื้นที่สาธารณะใกล้บ้าน ภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลายสร้างความสนุกสนาน สร้างการรับรู้ที่แตกต่างจากเดิมในพื้นที่ศาลเจ้า และที่สำคัญคือการเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับผู้ร่วมงาน เช่น การแข่งขันฟุตบอล กิจกรรมเกมกระดานสานสัมพันธ์ กิจกรรม Workshop ปั๊มลวดลายจีนบนกระเป๋าผ้า นิทรรศการภาพถ่ายบ้านเราชาวบางเหนียวและการจัดเวทีเสวนา เป็นพื้นที่ทำให้ผู้คนต่างวัยในชุมชนได้มาพบปะกัน
กิจกรรมเดินแรลลี่ “LET’S MOVE เชียงราย”
จัดขึ้นวันเสาร์ ที่ 16 กันยายน 2566 ที่ สถานีขนส่งดาวน์ทาวน์ เทศบาลนครเชียงราย มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้ทดลองเดินเท้าจริงตามเส้นทางโครงข่ายพื้นที่สุขภาพดี ที่คณะทำงานได้ทำการร่างผังไว้ และในแต่ละเส้นทางจะพาไปเจอกับกิจกรรมการทำภารกิจที่สนุกสนานและได้ออกกำลังกายในพื้นที่สุขภาพดีทั้ง 4 พื้นที่ ได้แก่ สถานีขนส่งดาวน์ทาวน์ คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย ลานชุมชนหลังวัดพระแก้ว และศูนย์เยาวชนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ยังผ่านสถานที่สำคัญอื่น ๆ ในเมืองเก่าเชียงราย เป็นการทำให้ผู้เข้าร่วมได้เดินสำรวจเมืองที่ตัวเองอยู่ในมุมมองที่แตกต่างออกไป
PA Masterplan Toolkits
คู่มือโครงข่ายพื้นที่สุขภาพดี
คู่มือนี้คือเครื่องมือที่จะช่วยสร้างพื้นที่สุขภาพดีในละแวกบ้านและเมืองให้เป็นที่อยู่อาศัยที่ดีของทุกคนในพื้นที่นั้น ผ่าน 3 ขั้นตอน ได้แก่ การค้นหาพื้นที่ที่เหมาะสม แนวทางการออกแบบพื้นที่ และการสร้างกลไกขับเคลื่อนโครงข่าย เพื่อให้เข้าใจและสามารถทำตามได้ง่าย ๆ
นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่เป็นตัวอย่างชัดเจน ที่จะช่วยให้เห็นภาพตัวอย่างของโครงข่ายพื้นที่สุขภาพดีที่ดำเนินการในระดับเมือง เพื่อให้ได้รับความรู้และแรงบันดาลใจในการทำให้เมืองอื่น ๆ
สนับสนุนโดย