5 ตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำจากทั่วโลก

พื้นที่ริมน้ำเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ สามารถพัฒนาให้เป็นแลนมาร์กเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศให้มาสัมผัสถึงเสน่ห์วิถีชีวิตริมน้ำ

5 ตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำจากทั่วโลก

ถ้าอยากหาสถานที่บรรยากาศดีและสามารถนั่งพักผ่อนหย่อนใจได้ทั้งวัน นอกจากสวนสาธารณะแล้ว อีกที่ที่เรานึกถึงคงหนีไม่พ้นพื้นที่ริมน้ำ เพราะทุกครั้งที่อยู่ใกล้ชิดกับสายน้ำจะสัมผัสได้ถึงลมเย็นๆ ความเงียบสงบแบบที่ชีวิตในเมืองใหญ่ให้ไม่ได้ หรือแค่การได้นั่งดูน้ำก็ช่วยให้จิตใจปลอดโปร่งและเบาสบายขึ้นแล้ว สิ่งนี้ทำให้เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าถ้าเมืองมีพื้นที่ริมน้ำที่ตอบโจทย์จริงๆ ทุกคนจะมีพื้นที่สาธารณะทางเลือกเพิ่มขึ้น มากกว่าแค่การไปเดินห้างสรรพสินค้าหรือนั่งชิลในสวน

Suzhou Creek, Shanghai, China

Suzhou Creek เป็นแม่น้ำที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเซี่ยงไฮ้ ความยาว 12.5 กม. แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้จีนเร่งพัฒนาเมืองเซี่ยงไฮ้อย่างรวดเร็ว ทำให้แม่น้ำสายนี้ได้รับผลกระทบจากการทำอุตสาหกรรมและมีขยะสะสม จนกระทั่ง Asian Development Bank ได้ยื่นมือเข้ามาให้การสนับสนุน โดยการชวน Sasaki บริษัทภูมิสถาปนิกชื่อดังมาออกแบบพื้นที่ริมแม่น้ำ เพื่อทำให้แม่น้ำสายนี้กลับมาสะอาดและพื้นที่รอบๆ มีชีวิตชีวาอีกครั้งอีกครั้ง
.
Sasaki ให้ความสำคัญกับพื้นที่รอบๆ แม่น้ำ โดยแบ่งพื้นที่บางส่วนทำเป็นสวนสาธารณะในชุมชนไล่ไปตามแนวแม่น้ำ โดยแต่ละที่จะมีระยะห่างไม่เกิน 500 เมตร เพื่อให้เอื้อต่อการเดินเท้า หรืออย่างโกดังเก่าไม่ได้ใช้งานก็ถูกเปลี่ยนเป็นจุดหมายปลายทางทางศิลปะวัฒนธรรม เพื่อเสริมความน่าสนใจให้กับวงการศิลปะที่กำลังเติบโตในเซี่ยงไฮ้
.
นอกจากนั้นยังมีการปรับบริเวณด้านบนของพื้นที่ใช้สอยใต้ดิน เช่น สถานีสูบน้ำ ที่จอดรถให้เป็นสวนบนดาดฟ้า สร้างลานกิจกรรมที่หลากหลาย รวมถึงออกแบบให้โครงสร้างสามารถรับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ  เพื่อให้คนเมืองได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่น้ำและออกมาใช้ชีวิตในเมืองได้อย่างเต็มที่

Chicago Riverwalk, Chicago, USA

เดิมพื้นที่ริมแม่น้ำชิคาโกเคยถูกใช้เป็นพื้นที่รองรับการเติบโตทางอุตสาหกรรมของเมือง แต่หลังจากการปรับปรุงคุณภาพน้ำในแม่น้ำแล้ว บทบาทของแม่น้ำชิคาโกก็ได้รับการพัฒนาผ่านโครงการ Chicago Riverwalk ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มในการคืนแม่น้ำชิคาโกให้กับประชาชนไว้พักผ่อนหย่อนใจและกระตุ้นเศรษฐกิจ

กลุ่มสถาปนิกและนักวางผังเมืองอย่าง Sasaki, Ross Barney Architects, Alfred Benesch Engineers, Jacobs/Ryan Associates ได้วางแผนให้มีการเชื่อมต่อทางเดินเท้าเลียบแม่น้ำระหว่างทะเลสาบกับจุดบรรจบของแม่น้ำ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องท้าทายทางเทคนิคมากๆ เช่น ทีมออกแบบต้องทำงานภายในพื้นที่ก่อสร้างกว้าง 25 ฟุต เพื่อขยายกิจกรรมบนทางเดินเท้า และเจรจาเชื่อมต่อใต้สะพานระหว่างช่วงตึก รวมถึงต้องออกแบบเผื่อเกิดน้ำท่วมอีกด้วย

จุดประสงค์ของโครงการนี้คือ เพื่อให้เกิดความไหลลื่นในการเดินเท้า มีจุดพักผ่อนหย่อนใจให้คนเมืองได้ออกมานั่งเล่น เดินเล่น และทำกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยจะแบ่งโซนกิจกรรมตามช่วงตึก เช่น โซนร้านอาหาร โซนนั่งเล่นพักผ่อน ลานอาบแดด โซนกิจกรรมพายคายัค และโซนตกปลา ซึ่งในปัจจุบันโครงการมีการปรับปรุงต่อเติมอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้คนได้ใช้ชีวิตทั้งกลางวันและกลางคืน 

Vistula Boulevard, Warsaw, Poland

ว่ากันว่าเป็นเรื่องยากมากๆ ถ้าพูดถึงความสวยงามของเมืองวอร์ซอแล้วจะไม่พูดถึงแม่น้ำ Vistula เนื่องจากแม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำที่อยู่ระหว่างเมืองเก่าและเมืองใหม่ ซึ่งแต่เดิมที่นี่เคยเป็นพื้นที่ริมน้ำไม่ได้ใช้งาน แต่ปัจจุบันได้รับการพัฒนาจนมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจมากมายสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่น เหมาะแก่การมาพักผ่อนหย่อนใจ เดินเล่น ขี่จักรยาน มีศาลานั่งอาบแดด ม้านั่งมุมต่างๆ นอกจากนั้นยังมีบ่อทรายเล็กๆ สำหรับให้เด็กๆ มาวิ่งเล่นกันอีกด้วย เพื่อทำให้เมืองคึกคักและเชื่อมโยงคนในเมืองเข้าหากันหรือเปิดโอกาสให้คนได้ออกมาเจอกันมากขึ้นนั่นเอง

Changsha Xiang River West Bank Commercial & Tourism Landscape Zone, Changhai, China

เดิมเมืองฉางซา (Changsha) เป็นแหล่งกำเนิดของวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูจนกลายเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านวัฒนธรรม ความบันเทิง เรียกว่าจากเมืองโบราณเล็กๆ สู่เมืองนานาชาติได้โดยการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย 

สิ่งหนึ่งที่เมืองฉางซาทำคือการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเซียง (Xiang) โดยได้พัฒนาทางเลียบริมน้ำยาว 2.45 กม. บริเวณย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ที่ใส่ใจเรื่องระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงทุกปี และออกแบบทางเดินให้เชื่อมต่อกับอาคารพาณิชย์ และออกแบบให้มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเดินเล่น นั่งเล่น หรือออกกำลังกาย เพื่อให้เป็นพื้นที่พักผ่อนของคนในเมือง ส่งเสริมการท่องเที่ยว การกีฬา ในขณะเดียวกันก็เพิ่มมูลค่าให้ย่านทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น 

Yannawa Riverfront, Bangkok, Thailand

การพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำยานนาวาเป็นโปรเจกต์ที่ทาง UDDC ร่วมกับ สสส. เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ริมน้ำตรงนี้เชื่อมกับย่านศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ อย่างบางรัก-สีลม-สาทร ติดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา แถมการเดินทางมาพื้นที่ก็สะดวกสบาย เพราะเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร

ก่อนการออกแบบทาง UDDC ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยทุกคนสามารถช่วยกันวางแผนและร่วมออกแบบได้ โดยแนวคิดหลักในการออกแบบคือ จัดสรรพื้นที่ให้รองรับกิจกรรมที่หลากหลายของย่าน สร้างการเชื่อมต่อในการเดินทาง มีพื้นที่ส่งเสริมการออกกำลังกาย และแก้ปัญหาด้วยการออกแบบอย่างบูรณาการ เช่น ซ่อมแซมเขื่อนป้องกันน้ำเดิมให้ใช้งานได้ 

Back

This is a unique website which will require a more modern browser to work!

Please upgrade today!

Share