City Lab
โครงการพัฒนาที่ว่างในเมืองให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนทุกวัย ที่อยากชวนให้ทุกคนออกมาดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ และเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน
CATEGORY
Urban Design
LOCATION
Mueang, Chiang Rai
YEAR
2022
เมื่อพูดถึง “เมืองเชียงราย” ทุกคนก็มักนึกถึงจังหวัดที่อยู่เหนือสุดแดนสยาม ดอยสวยชมวิวทะเลหมอก วัดร่องขุน แหล่งปลูกเมล็ดกาแฟ หรือชาห๊อมหอม แต่รู้ไหมว่าองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้เทศบาลนครเชียงรายเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) แห่งแรกในประเทศไทยด้วย
พวกเราเห็นถึงความพร้อมในหลาย ๆ ด้านของเชียงราย ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของพื้นที่สาธารณะ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และหน่วยงานท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่ทดลองในตัวเมืองเชียงราย และจัดทำพื้นที่สวนสาธารณะต้นแบบเพื่อต่อยอดไปยังพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ในเทศบาลนครเมืองเชียงราย
จากรับฟังความเห็นสู่แนวคิดลานสุขภาพใกล้บ้านในบริบทเมือง มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ในทุกระยะ 5 นาที หรือ Active + Learning: 5 Minute Walk To Learn โดยนำกิจกรรมทางกายมาผนวกกับการเรียนรู้และศิลปะซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด พื้นที่ดังกล่าวสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เชื่อมต่อกับศูนย์กิจกรรมการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ และศูนย์กิจกรรมการเรียนรู้ทางเศรษฐกิจ มีกลุ่มผู้ใช้งานหลัก คือ นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ และชุมชนที่อาศัยและทำงานในพื้นที่ ครอบคลุมช่วงวัยตั้งแต่ระดับเด็กโตถึงวัยทำงาน
“เปลี่ยนลานกลางเมือง ให้ทุกวัยได้มีสุขภาพดี”
พื้นที่ต้นแบบลานรำวงย้อนยุค สวนตุงและโคมนครเชียงราย หรือ ลานรู้ เล่น เต้นรำ ออกแบบภายใต้แนวคิด Active Learning คือมีพื้นที่ที่สามารถรองรับกิจกรรมสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย และมีเส้นทางเดิน วิ่ง ออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาวะในชีวิตประจำวัน โดยแบ่งออกเป็น 3 โซนกิจกรรม ได้แก่
Active Experiment Zone
พื้นที่กิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น วาดรูประบายสีพื้น เล่นดนตรี เต้น cover
Flexible Active Zone
พื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมทางกาย เช่น เกมบันไดงู เตะตะกร้อ ตีแบด แชร์บอล
Relaxing Zone
พื้นที่กิจกรรมยืดเหยียด พักผ่อนหย่อนใจ หรือพื้นที่ส่งเสริมการพักผ่อนคลายเครียด เช่น พื้นที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง เครื่องเล่นยืดเหยียด ที่นั่งอ่านหนังสือ ที่นั่งพักผ่อน
พื้นที่ภายในลาน “รู้ เล่น เต้นรำ” จะถูกแบ่งพื้นที่กิจกรรมด้วยรูปทรงวงกลม ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากดอกไม้ เนื่องจากลานรำวงย้อนยุคแห่งนี้มีที่ตั้งติดกับสวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ 75 พรรษา ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีการจัดงานเทศกาลประจำทุกปี จึงมองเห็นถึงความสำคัญของความต่อเนื่องของพื้นที่ เพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์และเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาพื้นที่บริเวณโดยรอบในอนาคต
เส้นทางเดิน-วิ่ง
ทางเดินเท้าภายในลานถูกออกแบบให้มีระยะทางที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย โดยให้ระยะทางของเส้นทางเดิน วิ่ง 1 รอบ มีความยาว 200 ม. และให้ทุก ๆ โค้งเกิดกิจกรรมใหม่ หรือ “1 โค้ง 1 กิจกรรมการเรียนรู้ใหม่” โดยที่เส้นขอบของวงกิจกรรมต่าง ๆ จะทำหน้าที่เป็นทางเดินย่อย เป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้งานที่ต้องการประสบการณ์ที่หลากหลาย
Active Experiment Zone
พื้นที่กิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน
พื้นที่กิจกรรมภายในโซนนี้จะประกอบไปด้วยวงกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน และวงกิจกรรมแสดงความสามารถพิเศษ ซึ่งลายพื้นจะถูกเติมเต็มด้วยลวดลายตามจินตนการของผู้มีส่วนร่วม โดยที่เมื่อแล้วเสร็จลายพื้นที่ในวงกิจกรรมนั้น ๆ จะออกมาเป็นรูปดอกไม้ และสามารถใช้งานพื้นที่ต่อไปได้
Active Flexible Zone
พื้นที่กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมทางกาย
พื้นที่กิจกรรมภายในโซนนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ โซนกีฬา ซึ่งออกแบบให้สามารถเล่นได้ 5 ชนิดกีฬา ประกอบด้วยสนามขนาดมาตรฐานของกีฬาแบดมินตัน ตะกร้อ ฟุตบอลรูหนู แชร์บอล และกระโดดเชือก และโซนเกม ประกอบไปด้วย 2 วงกิจกรรมคือ เกมบันไดงู และเกมออกกำลังกายตามท่าบนลายพื้น โดยแต่ละวงกิจกรรมจะมีจุดสีเหลืองอยู่บางส่วน เพื่อเป็นแนวทางในการจอดรถจักยานยนต์ในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 6.00–16.00น. และวันเสาร์หลัง 19.00น. จุดสีเหลืองจะทำหน้าที่เป็นจุดยืนสำหรับการเต้นรำวงพื้นเมือง
Relaxing Zone
พื้นที่กิจกรรมยืดเหยียดและพักผ่อนหย่อนใจ
พื้นที่กิจกรรมภายในโซนพักผ่อนหย่อนใจจะถูกออกแบบให้ฝั่งที่อยู่ติดรั้ว เป็น buffer ในการเปลี่ยนถ่ายจากกิจกรรมกระฉับกระเฉง (Active) สู่กิจกรรมสงบ (Passive) ดังนั้นวงกิจกรรมที่อยู่ฝั่งติดรั้ว จะเป็นกิจกรรมที่สามารถใช้เสียงได้บ้าง เช่น วงกิจกรรมออกกำลังกายยืดเหยียด โดยจะมีการตั้งเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง และเส้นทางเดินทางเลือกในวงกิจกรรมออกกำลังกายยืดเหยียดจะถูกเติมเต็มไปด้วยวัสดุที่มีพื้นสัมผัสที่แตกต่างกัน เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการออกกำลังกาย และความสุนทรียในการใช้งาน ส่วนวงกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจอื่น ๆ จะมีการทำอุปกรณ์ประกอบ (Street Furniture) ที่สามารถแยกส่วนได้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และการใช้งานที่หลากหลาย
กิจกรรม “ลองรู้ ลองเล่น ลองเต้นรำ”
กิจกรรมการมีส่วนร่วมโครงการถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ช่วงคือ กิจกรรมวันลอง กิจกรรมวันรู้ กิจกรรมวันเล่น และกิจกรรมวันเต้นรำ เพื่อให้คนในเมืองได้ตระหนักถึงการใช้ลานรู้เล่นเต้นรำ ผ่านการเรียนรู้ที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย อีกทั้งยังร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างลานสาธารณะในบริบทเมือง เพื่อให้คนในเมืองได้รู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ และเกิดความหวงแหนพื้นที่สาธารณะของตนเอง
สนับสนุนโดย