ปัญหารถติด ระบบขนส่งมวลชนไม่มีคุณภาพเพียงพอ และปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางอีกมากมายนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กรุงเทพมหานครมาช้านาน ทุกคนต้องพบเจอปัญหาเหล่านี้ในทุก ๆ วัน และกลับกลายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่เรายังต้องอาศัยอยู่ในมหานครแห่งนี้ต่อไป แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้เอง และการแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของเมืองก็คงไม่สามารถลงมือทำให้เกิดผลลัพธ์ได้ทันที ฉะนั้นแล้ว เราจะสามารถปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงหรืออยู่กับชีวิตประจำวันเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง
ทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการในการเดินทางของคนเมืองได้คือการใช้ “พาหนะส่วนตัวขนาดพกพา” ซึ่งในปัจจุบัน เทรนด์การใช้งานยานพาหนะประเภทนี้มีมากขึ้นในหลายพื้นที่ ส่วนหนึ่งมาจากการหลีกเลี่ยงปัญหาด้านการเดินทางภายในเมือง รวมถึงกระแสโลกในการคำนึงถึงผลกระทบต่อแวดล้อมของเมือง
พาหนะส่วนตัวขนาดพกพา มันดียังไง?
“พาหนะส่วนตัวขนาดพกพา” คือยานพาหนะที่ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองการเดินทางในระยะสั้น ใช้การขับเคลื่อนได้ทั้งกำลังเครื่องยนต์และกำลังกาย มีขนาดกะทัดรัด สามารถพับเก็บ พกพา รวมถึงสามารถสับเปลี่ยนพาหนะที่ใช้ในการเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย พาหนะชนิดนี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะกับการเดินทางของชีวิตคนเมือง
เหตุผลในการใช้พาหนะส่วนตัวขนาดพกพามีมากมายหลายประการ แต่ถ้าเราลองสรุปเหตุผลหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องการใช้พาหนะนี้กับการใช้ชีวิตในเมือง เราจะสามารถแบ่งข้อดีออกได้เป็น 5 ด้าน ดังนี้
- ประหยัดเวลาในการเดินทาง
โดยลดระยะเวลาจากการเดินเท้าจากต้นทางสู่ปลายทาง หรือเป็นพาหนะที่ช่วยสนับสนุนการเดินทางเข้าใช้ระบบขนส่งมวลชนเมืองได้ง่ายขึ้น - ประหยัดค่าเดินทาง
ทดแทนการใช้บริการขนส่งราคาสูงในกรุงเทพฯ รวมถึงการประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถส่วนตัวในทุก ๆ การเดินทางได้ - หลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด
ที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง และลดจำนวนรถยนต์ส่วนตัวที่ในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงตามการพัฒนาของเมือง - เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
และไม่ปล่อยมลพิษจากการใช้เครื่องยนต์พลังงานสะอาด หรือบางประเภทไม่ใช้เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนยานพาหนะ - ทุกคนสามารถใช้งานได้
และเป็นการออกกำลังกายไปในตัว รวมถึงการสร้างความสนุกสนานและไม่น่าเบื่อกับการเดินทางในเมือง
พาหนะส่วนตัวขนาดพกพา โดยเฉลี่ยมีระยะความกว้างที่สุดรวมผู้ใช้งานประมาณ 70 เซนติเมตร ใกล้เคียงกับระยะกายภาพของคนขณะเดิน น้ำหนักของยานพาหนะโดยประมาณทั่วไปไม่เกิน 10 กิโลกรัม การพกพาจึงเป็นเรื่องง่ายและสะดวก การรับน้ำหนักสูงที่สุด 150 กิโลกรัม รวมถึงความเร็วสูงที่สุดในรุ่นทั่วไปอยู่ที่ 25-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและสามารถไปได้ไกลถึง 30 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอร์รี่หนึ่งครั้ง ซึ่งเพียงพอต่อการเดินทางระยะสั้นภายในเมือง
เดินก็เหนื่อย ขึ้นรถก็เปลือง ตัวเลือกที่ลงตัวของคนเมือง
หากเปรียบเทียบระหว่างการเดินกับการใช้งานพาหนะส่วนตัวขนาดพกพา จะพบว่า การเดินมีความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5–5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่การใช้งานพาหนะมีความเร็วเฉลี่ยประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงสามารถลดระยะเวลาในการเดินทางได้ ประกอบกับกายภาพที่สนับสนุนการใช้งานมีความคล้ายคลึงกัน ระยะความกว้างของเขตทางที่ใช้ก็มีขนาดไม่แตกต่างกันมาก ทำให้เราสามารถใช้งานยาพาหนะร่วมกับการเดินบนทางเท้าได้
อีกด้าน คือพาหนะส่วนตัวขนาดพกพาสามารถทนแทนการใช้ยานพาหนะบางประเภทบนท้องถนนได้ โดยหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวผ่านการใช้งานพาหนะชนิดนี้โดยตรง พร้อมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งจากรถรับจ้างสาธารณะที่ไม่มีราคากลาง และค่าใช้จ่ายจากการเติมน้ำมันในแต่ละเดือน รวมถึงการไม่ปล่อยมลพิษจากใช้งาน ตรงข้ามกับการเผาไหม้เครื่องยนต์และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในรถยนต์ทั่วไป
เชื่อมรอยต่อของการเดินทาง
หากเราจะเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เราคงไม่สามารถขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้าได้จากหน้าบ้าน ทางเลือกที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นการใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถรับจ้างสาธารณะ ที่สามารถเดินทางจากต้นทางสู่ปลายทางได้ทันที การใช้งานในลักษณะนี้เป็นการเพิ่มปัญหาความหนาแน่นบนท้องถนน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็สูงตามไปด้วย รวมถึงการเดินทางยังสร้างมลพิษทางอากาศเป็นสัดส่วนที่สูงมาก
การเลือกใช้พาหนะส่วนตัวขนาดพกพาในกรุงเทพฯ จะเป็นส่วนสนับสนุนในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเมืองในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนรูปแบบในการเดินทาง เช่น การใช้พาหนะชนิดนี้เพื่อเดินทางไปใช้รถไฟฟ้าหรือขนส่งมวลชนอื่น ๆ โดยสามารถพกพาสะดวกเนื่องจากน้ำหนักเบาและพับเก็บได้ และหากระยะทางในการเดินทางจากต้นทางไปยังปลายทางไม่ไกลเกินไปนัก พาหนะชนิดนี้จะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนเมืองได้อย่างแน่นอน
ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานยานพาหนะส่วนตัวขนาดพกพาในกรุงเทพมหานครมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องทีดีทั้งต่อตนเองและดีต่อส่วนรวม แต่จำนวนการใช้งานจะมีมากขึ้นกว่านี้หากการใช้งานนั้นไม่มีอุปสรรคบนโครงสร้างพื้นฐานเมืองอย่างทางเท้า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปรับปรุงและแก้ไขทางเท้าให้มีคุณภาพที่เพียงพอ จัดการสิ่งกีดขวางและการสัญจรบนท้องถนนที่เป็นอันตรายต่อการใช้งาน เพิ่มองค์ประกอบบนทางเท้าที่สนับสนุนการใช้งาน รวมถึงภาครัฐมีนโยบายหรือมาตรการที่สนับสนุนทางเลือกในการเดินทางนี้ได้ จะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจร และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเดินทางภายในเมืองได้เช่นกัน
ที่มา : The Singapore Active Mobility Act Of 2017 และ เหตุผลหลัก 6 ประการ ที่ควรเลือกใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า
เรื่อง : ทัตพล วงศ์สามัคคี
ภาพ : อธิพัฒน์ พูนสินบูรณะกุล