พื้นที่สาธารณะแบบไหน เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ สร้างจินตนาการ

เนื่องในโอกาสที่เชียงรายได้เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบมา เราเลยขอพาทุกคนมาดูว่าออกแบบพื้นที่สาธารณะหรือกิจกรรมยังไงให้กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์กัน

พื้นที่สาธารณะแบบไหน เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ สร้างจินตนาการ

ล่าสุดทาง UNESCO ประกาศรับรองให้จังหวัดเชียงรายเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities Network) ด้านการออกแบบ (City of Design) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ช่วงหลายปีมานี้ทุกคนน่าจะเคยได้ยินคำว่าเมืองสร้างสรรค์หรือย่านสร้างสรรค์กันมาบ้างแล้ว เมืองสร้างสรรค์ (Creative City) ในนิยามของ UNESCO คือ เมืองที่มีการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชนในการสร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างธุรกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อย่างเชียงรายเองก็เต็มไปด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานสร้างสรรค์ มีศิลปินจำนวนมาก มีจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นสืบทอดมาอย่างยาวนาน รวมถึงมีความเข้มแข็งด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรม นอกจากนั้นถ้าใครอยากริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนก็พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่อีกด้วย

เนื่องในโอกาสที่ชาวเชียงรายเพิ่งได้เมืองสร้างสรรค์มาหมาดๆ เราเลยขอพาทุกคนมาดูว่าพื้นที่สาธารณะแบบไหนถึงจะสร้างเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์กัน!

ลานรำวงย้อนยุคอยู่ติดกับสวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ 75 พรรษา ซึ่งใช้เป็นพื้นที่สาธารณะในการจัดงานเทศกาลเป็นประจำทุกปี ทำให้พวกเรามองเห็นศักยภาพของพื้นที่ตรงนี้ว่าสามารถเอามาพัฒนาและออกแบบให้ใช้งานได้หลากหลายกิจกรรมมากขึ้นจึงนำมาสู่โครงการ City Lab ลานรู้ เล่น เต้นรำ

ลานรู้ เล่น เต้นรำ ออกแบบภายใต้แนวคิด Active Learning คือมีพื้นที่ที่สามารถรองรับกิจกรรมสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย และมีเส้นทางเดิน วิ่ง และออกกำลังกาย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนและสุขภาวะที่ดีในชีวิตประจำวัน โดยแบ่งออกเป็น 3 โซนกิจกรรม ได้แก่

✦ Active Experiment Zone: พื้นที่กิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น วาดรูประบายสีพื้น เล่นดนตรี เต้น cover
✦ Flexible Active Zone: พื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมทางกาย เช่น เกมบันไดงู เตะตะกร้อ ตีแบด แชร์บอล
✦ Relaxing Zone: พื้นที่กิจกรรมยืดเหยียด พักผ่อนหย่อนใจ หรือพื้นที่ส่งเสริมการพักผ่อนคลายเครียด เช่น พื้นที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง เครื่องเล่นยืดเหยียด ที่นั่งอ่านหนังสือ ที่นั่งพักผ่อน

ชวนชาวเชียงรายมานั่งอ่านหนังสือ เดินเล่น และขยับแขนขาเพิ่มความคิดสร้างสรรค์หรือสร้างแรงบันดาลใจกันได้น้า

ในโครงการ PA Masterplan หรือการสร้างโครงข่ายพื้นที่สุขภาพดี พวกเราได้ออกแบบพื้นที่สาธารณะในเมืองเก่าเชียงรายภายใต้แนวคิด PA Thinking Box หรือ “กล่องสุขภาพดี” ที่ทำให้คนในเชียงรายมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเจ้ากล่องสุขภาพดีนี้สามารถปรับการใช้งานได้อย่างอิสระ สามารถนำไปวางไว้ที่ไหนก็ได้ หรือถ้าแผ่ออกมาจะวางอยู่บนพื้น ติดผนัง หรือเจาะลงข้างล่างก็ออกมาเป็นพื้นที่สุขภาวะที่ส่งเสริมด้านความสร้างสรรค์ (Creative) และการเรียนรู้ (Learning) ไปพร้อมกับการมีกิจกรรมทางกาย (Physical activity) เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพดี ได้โดยสอดคล้องไปกับบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่

ใครผ่านไปแถวสถานีขนส่งดาวน์ทาวน์ พื้นที่หน้าคริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย พื้นที่ลานชุมชนหลังวัดพระแก้ว หน้าอาคารศูนย์เยาวชนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และลานหน้าศูนย์วัฒนธรรมนิทัศน์และพิพิธภัณฑ์เมืองเชียงราย 750 ปี ชวนทุกคนไปเดินเล่น นั่งเล่น ขยับแข้งขากันนะ

ต่อยอดจาก CityLab ลานรู้ เล่น เต้นรำ สู่กิจกรรม “เล่น รู้ ดู อ่าน” งานนิทรรศการหนังสือภาพและนิทานนานาชาติ โดยกิจกรรมจัดขึ้นที่โรงเรียนเทศบาล 1 ศรีเกิด และห้องสมุดเสมสิกขาลัยเชียงราย ภายในงานมีกิจกรรมสนุกๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นมุมอ่านหนังสือภาพ ของเล่นสร้างจินตนาการ เล่านิทาน และเล่นบอร์ดเกม

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมที่ชวนให้ทุกคนมาออกไอเดียเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะในฝัน และสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกแบบพื้นที่ห้องสมุดภายใต้แนวคิด ACTIVE + LEARNING LIBRARY อีกด้วย ซึ่งทุกกิจกรรมช่วยแต่งแต้มจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับน้องๆ และช่วยทำให้ทุกคนเห็นภาพว่าห้องสมุดไม่ได้เป็นแค่ที่อ่านหนังสือเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมเรียนรู้นอกห้องเรียนได้เหมือนกัน  : )  

 

 

Back

This is a unique website which will require a more modern browser to work!

Please upgrade today!

Share